ตีนนกเขา ๒

Vitex vestita Wall. ex Walp.

ชื่ออื่น ๆ
คดงู, ผะไห้น้อย (เพชรบูรณ์)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีใบย่อย ๓-๕ ใบ รูปไข่ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบ คล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบ ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ดอกสีขาว สีขาวแกมสีเหลือง หรือสีขาวอมชมพู ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีหรือรูปทรงกลม สุกสีดำ เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ มีได้ถึง ๔ เมล็ด

ตีนนกเขาชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๒ ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ สีเทาถึงสีน้ำตาลเข้ม เปลือกในสีขาวซีดถึงสีน้ำตาล

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีใบย่อย ๓-๕ ใบ รูปไข่ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๔-๑๖ ซม. ใบย่อยใบกลางมีขนาดใหญ่สุด ใบย่อยคู่ล่างมีขนาดเล็กกว่าใบย่อยอื่น ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบย่อยใบกลางรูปลิ่มหรือสอบเรียว โคนใบย่อยด้านข้างมนกลมหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ พบบ้างที่จักฟันเลื่อยไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีต่อมทั่วไปและขนประปรายตามเส้นใบ ด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนและต่อมประปรายถึงหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒-๗ ซม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านใบย่อยใบกลางยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านใบย่อยด้านข้างยาว ๒-๕ มม. หรือไร้ก้าน

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบ คล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบ ยาว ๓-๗ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๒ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีเหลือง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ก้านดอกยาว ๑-๒.๕ มม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาวได้ถึง ๒ มม. ร่วงง่าย ขอบมักมีขนครุย ดอกสีขาว สีขาวแกมสีเหลือง หรือสีขาวอมชมพู กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาว ๒.๕-๔ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มประปรายถึงหนาแน่น มีต่อมประปราย ด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๕ แฉกหรือตัดตรง กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๐.๗-๑ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ด้านนอกมีขนประปรายถึงหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง ปลายหลอดแยกเป็น ๒ ซีก ซีกบนมี ๒ แฉก รูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมหรือมน ซีกล่างมี ๓ แฉก รูปไข่แกมรูปกลม ปลายมน แฉกกลางขนาดใหญ่สุด โคนมีแต้มสีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้ ๔ เกสร แบบ ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดภายในหลอดกลีบดอกเหนือจุดกึ่งกลางหลอด ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๔ มม. โคนก้านมีขนประปราย


อับเรณูสีม่วงดำ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม เกลี้ยง มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓.๕-๗ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีหรือรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. ผลอ่อนสีเขียว สุกสีดำ ผิวเป็นมัน มีกลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทนที่โคนผล เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ มีได้ถึง ๔ เมล็ด

 ตีนนกเขาชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าละเมาะ บนเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน ลาว เวียดนาม มาเลเซีย (บอร์เนียว) และอินโดนีเซีย (สุมาตรา).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตีนนกเขา ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vitex vestita Wall. ex Walp.
ชื่อสกุล
Vitex
คำระบุชนิด
vestita
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Walpers, Wilhelm Gerhard
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Walpers, Wilhelm Gerhard (1816-1853)
ชื่ออื่น ๆ
คดงู, ผะไห้น้อย (เพชรบูรณ์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี